วันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เครื่องสกัดน้ำมันงา

รศ.ดร.มงคล กวางวโรภาส สังกัด ภาควิชาวิศวกรรมเกษตร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้ออกแบบและสร้างเครื่องสกัดน้ำมันงาแบบเย็น (รูปที่ 1) โดยใช้กำลังจากระบบไฮดรอลิก ต้นกำลังประกอบด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าขนาด 1.5 กิโลวัตต์ ขับปั๊มไฮโดรอลิกให้ส่งน้ำมันออกมาในอัตรา 3.7 ลิตรต่อนาที ด้วยความดันใช้งาน 150 บาร์ จำกัดความดันสูงสุดด้วยวาล์วผ่อนคลายความดัน น้ำมันจะถูกส่งผ่านวาล์วควบคุมทิศทางเข้าสู่กระบอกไฮดรอลิก            

           ชุดอุปกรณ์ของการสกัดประกอบด้วยกระบอกโลหะเจาะรูขนาด 2 มิลลิเมตรโดยรอบ บรรจุงาได้สูงสุดครั้งละ 2.5 กิโลกรัม ด้านล่างมีถาดรองรับน้ำมัน ด้านบนมีชุดฝาอัดยึดติดส่วนบนของเสาหลักของเครื่องสกัดน้ำมันงาแบบเย็นทำหน้าที่บีบอัดงาในกระบอกด้วยแรงดัน น้ำมันงาจะไหลออกจากรูรอบกระบอกลงสู่ถาดรองรับด้านล่าง ปริมาณน้ำมันงาที่ได้ คือ 800 ลูกบาศก์เซนติเมตรต่อชั่วโมง คิดเป็น 30-35 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก ในการสกัดแต่ละครั้งจะเปิดสวิทช์ควบคุมให้มอเตอร์ไฟฟ้าทำงานเป็นบางจังหวะ เพื่อรักษาความดันน้ำมันไฮดรอลิกในวงจรให้อยู่ระหว่าง 100-150 บาร์
           น้ำมันงาที่สกัดได้จากเครื่องสกัดน้ำมันงาแบบเย็นสำหรับวิสาหกิจชุมชนนี้ เป็นน้ำมันงาที่มีคุณภาพสูง มีสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น กรดไลโอเลอิก อยู่ครบถ้วน ไม่ถูกทำลายเหมือนน้ำมันงาที่สกัดด้วยวิธีทางความร้อนหรือด้วยวิธีการทางเคมี รวมทั้งไม่มีเศษชิ้นส่วนของเมล็ดงา ปะปนเหมือนการสกัดด้วยวิธีการใช้เกลียวอัด (screw press) น้ำมันงาที่สกัดได้จึงมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของลูกค้าและเหมาะกับการใช้งานทุกประเภท เครื่องสกัดดังกล่าวมีกลไกการทำงานที่ไม่ซับซ้อน
จึงเหมาะกับการใช้งานในวิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการรายย่อย

ติดต่อขอรายละเอียดเพิ่มเติม โปรแกรมเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตรและอาหาร โทร.02 564 6700 ต่อ 3420, 3445 (ไชยันต์) e-mail : chaiyan@nstda.or.thchaiyan@nstda.or.th

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น